เบื้องหลัง ของ การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566

ในปี 2562 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ให้คำมั่นสัญญามาหลายครั้ง การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกวิจารณ์ว่ามีการเอื้อประโยชน์แก่พรรคพลังประชารัฐมาตั้งแต่การออกแบบระบบ[3] เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ร่างขึ้นหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ระบุให้สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งมีสิทธิออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ การคำนวณสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไม่มีการกำหนดสูตรชัดเจน และมีการใช้มาตรา 44 เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งแก้ไขเขตเลือกตั้งก่อนที่จะประกาศเพียงไม่กี่วัน[4] ผลการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งปรากฏว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย[5] และมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคพลังประชารัฐ

ประยุทธ์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2562 รัฐธรรมนูญไทยระบุไว้ว่า นายกรัฐมนตรีสามารถดำรงตำแหน่งได้รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี[6] อย่างไรก็ตาม วันสิ้นสุดวาระของประยุทธ์นั้นไม่แน่นอน เนื่องจากมีการตีความวันเริ่มต้นวาระอย่างหลากหลาย บ้างก็ตีความว่าประยุทธ์เริ่มเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2557 หลังจากการก่อรัฐประหาร บ้างก็ตีความว่าประยุทธ์เริ่มเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2560 หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่[7] ส่วนฝ่ายกฎหมายของรัฐสภาระบุว่า ประยุทธ์สามารถดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้จนถึงปี 2570 ถ้าเขาได้รับเลือกอีกครั้ง[8][9]

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2565 ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้นำคำร้องยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประยุทธ์[6] ต่อมาในวันที่ 24 สิงหาคม ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และสั่งให้ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยในวันที่ 30 กันยายน[10] โดยในช่วงเวลาระหว่างรอคำวินิจฉัยดังกล่าว ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่หนึ่ง ได้เป็นผู้รักษาการแทนตำแหน่งนายกรัฐมนตรี[11] กระทั่งถึงวันที่ 30 กันยายน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เสียง วินิจฉัยว่าประยุทธ์ยังสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ถึง พ.ศ. 2568[12][13]

ระบบเลือกตั้ง

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ระบุว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คนจะได้รับเลือกโดยใช้ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะลงคะแนนเสียงด้วยบัตรใบเดียว เพื่อเลือก ส.ส. 350 ที่นั่งจากเขตเลือกตั้ง และอีก 150 ที่นั่งจะเป็นการจัดสรรตามคะแนนของพรรคการเมืองทั้งประเทศ[14] หลังการเลือกตั้ง สภาผู้แทนราษฎร 500 ที่นั่ง จะลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีในการประชุมร่วมกับวุฒิสภาอีก 250 ที่นั่ง วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดยคสช. จะอยู่ในวาระจนถึงปี 2567 จึงคาดว่าสมาชิกวุฒิสภาจะมีอิทธิพลต่อการเลือกตั้งครั้งนี้เช่นกัน[15]

เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2564 ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้มีการลงคะแนนเสียง 472 ต่อ 33 เสียง (งดออกเสียง 187 เสียง) เพื่อกลับมาใช้การลงคะแนนระบบคู่ขนานที่เคยใช้เมื่อช่วงก่อนปี 2560 ในระบบนี้ จะมี ส.ส. 400 ที่นั่งที่มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต และลดจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลงเหลือ 100 ที่นั่ง จากเดิม 150 ที่นั่ง[16] ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจะต้องลงคะแนนโดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตและพรรคการเมืองที่ตนต้องการ[16] ต่างจากระบบก่อนหน้าที่ผู้มีสิทธิ์แต่ละคนลงคะแนนเสียงเพียงครั้งเดียวเพื่อเลือก ส.ส. ทั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ[17] อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยพรรคการเมืองขนาดเล็ก เนื่องจากระบบนี้จะทำให้พรรคดังกล่าวได้ที่นั่งในสภายากขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายค้าน

ในช่วง พ.ศ. 2565 มีการถกเถียงว่าจะใช้สูตรคำนวณ ส.ส. บัญชีรายชื่อแบบใดระหว่าง "สูตรหาร 100" กับ "สูตรหาร 500" ซึ่งถ้าใช้สูตรหาร 500 จะทำให้เกิดที่นั่งส่วนเกิน (Overhanging seat) แบบเดียวกับในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 และทำให้คะแนนเสียงพึงมีของ ส.ส. 1 ที่นั่งต่ำลง ซึ่งเอื้อต่อการตีความให้พรรคเล็กได้ประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ในเดือนสิงหาคม 2565 มีการใช้กลยุทธ์ไม่มาประชุมจนสภาขาดองค์ประชุม ทำให้การพิจารณาแก้ไขเป็นสูตรหาร 500 ต้องตกไป และกลับไปใช้สูตรหาร 100 โดยปริยาย[18]

เขตการเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 คณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีการส่งหนังสือด่วนถึงผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดต่าง ๆ และกรุงเทพมหานคร โดยมีการระบุถึงจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่พึงมีในแต่ละพื้นที่ และระบุให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งในแต่ละพื้นที่เตรียมแบ่งเขตเลือกตั้งไว้เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย 3 รูปแบบ และเมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องมีผลใช้บังคับ จะได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดต่อไป[19] กกต. ได้คำนวณให้มี ส.ส. 1 คน ต่อราษฎร 165,428.5975 คน โดยใช้ข้อมูลจำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักรตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2564 เป็นฐานในการคำนวณ[20]

จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่พึงมีในแต่ละพื้นที่ มีดังนี้[19]

พื้นที่จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมี
กรุงเทพมหานคร33
นครราชสีมา16
ขอนแก่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี11
ชลบุรี บุรีรัมย์10
นครศรีธรรมราช ศรีสะเกษ สงขลา อุดรธานี9
เชียงราย นนทบุรี ร้อยเอ็ด สมุทรปราการ สุรินทร์8
ชัยภูมิ ปทุมธานี สกลนคร สุราษฏร์ธานี7
กาฬสินธุ์ นครปฐม นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ มหาสารคาม6
กาญจนบุรี นราธิวาส พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก ระยอง ราชบุรี สุพรรณบุรี5
กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ตรัง ตาก นครพนม ปัตตานี ลพบุรี ลำปาง เลย สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย4
กระบี่ จันทบุรี ชุมพร น่าน บึงกาฬ ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง พิจิตร เพชรบุรี แพร่ ภูเก็ต ยโสธร ยะลา สระแก้ว หนองคาย หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์3
ชัยนาท นครนายก พังงา มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ลำพูน สตูล อ่างทอง อำนาจเจริญ อุทัยธานี2
ตราด ระนอง สมุทรสงคราม สิงห์บุรี1

ใกล้เคียง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2554 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2549 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2550 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2544 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2548 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2500 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2539

แหล่งที่มา

WikiPedia: การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2566 http://www.nationmultimedia.com/detail/opinion/303... http://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0... https://thestandard.co/timeline-of-the-election-25... https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/2305... https://www.bbc.com/thai/articles/c03zk31edx3o https://www.bbc.com/thai/articles/cgx0pykkp35o https://www.dw.com/en/thai-parliament-elects-prayu... https://www.khaosodenglish.com/politics/2018/11/30... https://www.khaosodenglish.com/politics/2021/12/30... https://www.matichonweekly.com/?p=603906